เงาคั่น เงาคั่น

ประวัติความเป็นมา

ลงวันที่ 12 ต.ค. 2566
ประวัติความเป็นมา

               สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้บันทึกสรุปไว้ว่า ชนผู้ไทอำเภอเรณูนคร นั้น เดิมมีถิ่นฐานอยู่ที่เมืองแถงและเมืองไถ อันเป็นเมืองแรกในประวัติศาสตร์เป็นเมืองไทยที่ใหญ่มากในแคว้นสิบสองจุไทย ขณะนั้นเป็นอาณาจักรขึ้นตรงต่อาณาจักรน่านเจ้า และสุโขทัยในเวลาต่อมา

                     เมืองแถงและเมืองไถ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขาไม่อุดมสมบูรณ์ ประกอบกับอยู่ในภาวะหมายปองของประเทศใกล้เคียงถึง 3 ประเทศ คือ หลวงพระบาง จีน และญวน ซึ่งต่างก็พยายามจะเข้าไปมีอิทธิพลครอบครองเมืองทั้งสอง 

                     เมื่อผู้ไทย  เมืองแถง  และเมืองไถ  ซึ่งเป็นหัวเมืองชั้นนอกถูกรุกรานมาก ๆ เข้าก็พากันอพยพมาอยู่ที่เมือง " น้ำน้อยอ้อยหนู" มีท้าวก่าเป็นหัวหน้า ซึ่งเป็นเมืองในสิบสองจุไทย (ปัจจุบันอยู่ทางทิศเหนือของพม่าและตอนใต้ของจีน)

                    ต่อมาเมืองน้ำน้อยอ้อยหนูอัตคัดอดอยาก ประกอบกับท้าวก่าไม่พอใจกับเจ้าเมืองน้ำน้อยอ้อยหนู จึงทำให้ผู้ไทยเหล่านั้นอพยพขึ้นไปกับ อนุรุทกุมาร เจ้าเมืองเวียงจันทร์ เจ้าอนุรุทกุมาร จึงสั่งให้ท้าวก่านำชาวผู้ไทยเหล่านั้นไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองวัง (ปัจจุบันอยู่ในแขวงสุวรรณเขต) เมืองวังพวกนี้พวกข่าปกครองอยู่  พวกข่าพยายามเข้าปกครองชาวผู้ไทยด้วยแต่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมจึงเกิดการแข่งขันยิงธนู โดยมีข้อตกลงว่า ถ้าฝ่ายใดยิงธนูไปติดกับหน้าผาหินได้จะเป็นฝ่ายชนะ ปรากฏว่าฝ่ายผู้ไทยชนะ เพราะฉลาดกว่าโดยนำเอาสูตร (ชันมะโรง) มาใส่ไว้ในหัวธนูจึงทำให้ชนเผ่าผู้ไทยได้ปกครองพวกข่าตั้งแต่นั้นมา โดยมีท้าวก่าเป็นผู้ปกครอง ต่อมาท้าวก่าตาย พระยาเตโชเป็นเจ้าปกครองแทน ต่อมาพระยาเตโชถูกศัตรูจับไป  ท้าวเพชรและท้าวสาย บุตรของพระยาเตโชได้นำชาวผู้ไทยเหล่านั้น อพยพหนีอีกครั้งหนึ่งโดยข้ามแม่น้ำโขงมาพักที่ค่าย "โพธิ์สามต้น" (ปัจจุบันคือบ้านพระกลางทุ่ง ตำบลพระกลางทุ่ง อำเภอธาตุพนม) ต่อมาได้อพยพไปอยู่ที่หนองหารจังหวัดสกลนคร แต่อยู่ไม่นานเพราะเด็ก  ผู้ใหญ่พากันล้มป่ายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเคยอยู่แต่ในป่าไม่เคยอยู่ทุ่งโล่ง จึงพากันอพยพกลับค่ายโพธิ์สามต้น

                      ต่อมาชาวผู้ไทยได้ไปนมัสการถามเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมถึงที่จะตั้งหมู่บ้านใหม่ที่เหมาะสม เจ้าอาวาสจึงได้ให้ไปถาม "ความช้างบักเอก" ถึงทีตั้งทำเลดังกล่าว จึงได้รับคำแนะนำไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หนองหวาย ซึ่งมีห้วยบ่อแกไหลผ่าน จึงให้ชื่อหมู่บ้านครั้งแรกว่า "บ้านดงหวาย สายบ่อแก" ต่อมาชาวผู้ไทยได้อพยพมาจากเมืองวังมาตั้งบ้านเรือนสมทบเพิ่มขึ้นอีก บ้านเรือนที่ตั้งเพิ่มขึ้นอีกนั้นตั้งวกไปเวียนมาไม่เป็นระเบียบ จึงเรียกชื่อใหม่ว่า "บ้านเมืองเว" ในรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีเจ้านายและเจ้ากรรมเมืองเสด็จมาเห็นว่าในบริเวณใกล้บ้านเมืองเวมีหนองน้ำใหญ่ชื่อ หนองลาดควาย อยู่หนองหนึ่งมีดอกบัวขึ้นอยู่เต็ม ดอกบานสะพรั่งเลยเอานามดอกบัวนี้มาพระราชทานนามเมืองนี้ว่า "เรณูนคร" มีเจ้าเพชรเป็นเจ้าเมือง ตั้งชื่อว่าพระแก้วโกพล ต่อมารัชกาลที่ 5 เมืองเรณูนคร ได้ยกฐานะเป็นอำเภอมีหลวงยุทธกิจเป็นนายอำเภอ ต่อมาท้าวก่าเตโชได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอแทนหลวงยุทธกิจ

                      ต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาตรวจราชการที่อำเภอเณูนครเห็นว่าอำเภอเรณูนครนี้อยู่ห่างไกลแม่น้ำไปมาลำบาก และชัยภูมิบ้านธาตุพนมเป็นที่เหมาะสมรวมทั้งมีพระธาตุพนมอันเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่ด้วย จึงได้ย้ายอำเภอไปตั้งใหม่ เรียกว่า "อำเภอธาตุพนม" ตั้งแต่ พ.ศ. 2453 อำเภอเรณูนครจึงลดฐานะเป็นตำบล อยู่ในเขตปกครองของอำเภอธาตุพนม

 

                      ต่อมาวันที่ 1 พฤษภาคม 2513 ทางราชการได้ประกาศยกฐานะตำบลเรณูนครขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเรณูนคร เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2518 ทางราชการประกาศยกฐานะของกิ่งอำเภอเรณู เป็นอำเภอเรียกว่า "อำเภอเรณูนคร" จนกระทั่งทุกวันนี้

 รายนามเจ้าเมืองเรณูนครในอดีต

 เจ้าเพชร - เจ้าสาย 2 พี่น้อง บุตรพระยาเตโช เจ้าเมืองวัง หัวหน้านายครัวเมืองวัง ผู้ก่อตั้งบ้านดงหวายสายบ่อแก หรือ บ้านดงหวาย หรือ เมืองเว ( พ.ศ. 2369- 2387 รวม 18 ปี )

 

รายนามเจ้าเมืองเรณูนคร ที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรแต่งตั้ง 

เป็น "พระแก้วโกมล" รวม 5 คน คือ

1. พระแก้วโกมล ( เจ้าสาย แก้วมณีชัย ) เป็นเจ้าเมืองเรณูนครระหว่าง พ.ศ. 2387- 2405รวม 19 ปี 

2. พระแก้วโกมล ( เจ้าไพ แก้วมณีชัย / เตโช )เป็นเจ้าเมืองเรณูนครระหว่าง พ.ศ. 2406- 2430 รวม 25 ปี ( เจ้าเพชร เจ้าสาย เจ้าไพ เดิมใช้นามสกุล แก้วมณีชัย ภายหลังบุตรหลาน ได้จดทะเบียนขอใช้นามสกุลเป็น "เตโช" ในสมัยรัชกาลที่ 6) 

3. พระแก้วโกมล ( เจ้าสิงห์ แก้วมณีชัย )เป็นเจ้าเมืองเรณูนครระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๐ - ๒๔๓๗ รวม ๘ ปี

4. พระแก้วโกมล ( พิมมะสอน เตโช ) เป็นเจ้าเมืองเรณูนครระหว่าง พ.ศ. 2437- 2440 รวม 4 ปี

5. พระแก้วโกมล ( เหม็น โกพลรัตน์ ) เป็นเจ้าเมืองเรณูนครระหว่าง พ.ศ. 2440- 2446รวม 7 ปี

รายนามนายอำเภอเมืองเรณูนคร

          พ.ศ. 2447 กระทรวงมหาดไทยประกาศเปลี่ยนชื่อเมืองเรณูนคร เป็นอำเภอเรณูนคร และแต่งตั้งนายอำเภอเมืองเรณูนคร ดังนี้

          1. หลวงชาญยุทธกิจ ( กา เตโช ) พ.ศ. 2447- 2450รวม 4 ปีพ.ศ. 2451 ทางราชการย้ายที่ทำการอำเภอเรณูนครจากเมืองเรณูนครไปตั้งที่ตำบลธาตุพนม แต่ยังคงใช้ชื่อว่าอำเภอเรณูนคร  

          2. รองอำมาตย์เอก พระราชกิจภักดี ( ดวงเกษ ณ นครพนม ) พ.ศ. 2451- 2455 รวม 5 ปี

          3. รองอำมาตย์เอก ขุนพนมพนารักษ์ ( เฮ้า พิมพานนท์ ) พ.ศ. 2456- 2460 รวม 5 ปี

          พ.ศ. 2460 กระทรวงมหาดไทยประกาศเปลี่ยนชื่ออำเภอเรณูนคร เป็นอำเภอธาตุพนม และเมืองเรณูนครมีฐานะเป็นเพียง ตำบลเรณู เท่านั้น

          4. รองอำมาตย์เอก หลวงพิทักษ์พนมเขต ( ศรีกระทุม จันทรสาขา ) ดำรงตำแหน่งนายอำเภอธาตุพนมคนแรก พ.ศ.2461-2481 รวม 21 ปี

          วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2513 กระทรวงมหาดไทยประกาศยกฐานะตำบลเรณู เป็น กิ่งอำเภอเรณูนคร

          วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2518 กระทรวงมหาดไทยประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอเรณูนคร เป็น อำเภอเรณูนคร

 

 




ภาพที่เกี่ยวข้อง ประวัติความเป็นมา

โทรศัพท์ : 0 4257 9239
E-mail : [email protected]

วันจันทร์ - วันศุกร์ (หยุดวันเสาร์ - อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น.